จากบทที่แล้วเราได้เรียนรู้สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเล่นเกมไปแล้ว ต่อจากนี้ไปเรามาเรียนรู้เรื่องการออกแบบเกมกัน การออกแบบเกมมีหลายส่วนที่เราจะต้องออกแบบ เช่น แนวเกม เป้าหมายของผู้เล่น เนื้อเรื่อง เป็นต้น ในการพัฒนาเกมที่มีเนื้อเรื่องนักพัฒนาเกมมือใหม่มักจะให้ความสำคัญไปที่การเขียนเนื้อเรื่องเป็นอันดับแรก สิ่งที่ตามมาหลังจากเขียนเนื้อเรื่องไปได้สักพักคือเนื้อเรื่องตัน เนื้อเรื่องออกนอกที่คิดเอาไว้ หรือเนื้อเรื่องไม่เสมอต้นเสมอปลาย สาเหตุมาจากการเริ่มเขียนเนื้อเรื่องทันทีโดยไม่ได้ออกแบบองค์ประกอบต่าง ๆ ของเนื้อเรื่องก่อน ในบทนี้เราจะมาเรียนรู้เรื่องการออกแบบโครงเรื่องซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของเนื้อเรื่องกัน
ออกแบบโครงเรื่องได้อย่างไร?
โครงเรื่อง (Plot) คือเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบเรื่อง โครงเรื่องของเรื่องสั้น นิยาย ภาพยนตร์ และเกมทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. ต้นเรื่อง - ผูกปมปัญหา ตอนต้นเรื่องตัวละครเอกมีปัญหาอะไรถึงจะทำสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อมาภายหลัง ปมปัญหาเป็นส่วนที่ทำให้ผู้เล่นติดตามเนื้อเรื่อง ผู้เล่นจะลุ้นว่าสุดท้ายแล้วตัวละครเอกจะสามารถแก้ปมปัญหานั้นได้หรือไม่ ในเกมที่มีเนื้อเรื่องปมปัญหาถือว่าเป็นเป้าหมายหลักของผู้เล่น
2. กลางเรื่อง - หาทางแก้ปมปัญหา เมื่อตัวละครเอกมีปมปัญหาแล้ว ตัวละครเอกจะดำเนินเรื่องเพื่อหาวิธีแก้ปมปัญหานั้นให้ได้ ส่วนนี้เป็นส่วนที่ดึงดูดความสนใจของผู้เล่น ผู้เล่นจะเลิกติดตามเนื้อเรื่องหรือไม่ขึ้นอยู่กับการหาทางแก้ปมปัญหาในตอนกลางเรื่อง ตัวละครเอกอาจทดลองแก้ปมปัญหาด้วยวิธีต่าง ๆ แล้วเกิดเป็นปมปัญหาย่อยตามมาในภายหลังก็ได้
3. ปลายเรื่อง - คลี่คลายปมปัญหา เมื่อตัวละครเอกดำเนินเรื่องมาจนถึงปลายเรื่องแล้ว ตัวละครเอกจะค้นพบวิธีที่สามารถแก้ปมปัญหาได้จริง ๆ จุดนี้เรียกว่าจุดยอด (Climax) ผู้เล่นจะตื่นเต้นและลุ้นว่าตัวละครเอกจะแก้ปมปัญหาได้จริง ๆ หรือไม่ จุดนี้เป็นจุดที่จะตราตรึงใจผู้เล่นไปอีกนาน ดังนั้นเราจึงควรออกแบบจุดยอดนี้ให้ประทับใจผู้เล่นให้มากที่สุด ในภาพยนตร์หรือเกมบางเรื่องอาจไม่มีจุดยอดในตอนปลายเรื่อง และจบเนื้อเรื่องทั้งที่ตัวละครเอกยังแก้ปมปัญหาไม่ได้ วิธีนี้มักใช้เพื่อทิ้งปมปัญหาให้ผู้เล่นคิดหาวิธีแก้ปมปัญหาต่อเอาเอง หรือเพื่อเป็นส่วนที่จะนำมาสร้างเป็นภาคต่อในอนาคต
ยกตัวอย่างการออกแบบโครงเรื่องมาได้ไหม?
ตัวอย่างที่ 1: บ้านผีดุปมปัญหา : ตัวละครเอกและเพื่อนของตัวละครเอกอีก 4 คนเข้าไปในบ้านผีสิงหลังหนึ่งแล้วออกมาไม่ได้ ประตูทางเข้าออกล็อก ตัวละครเอกและเพื่อนจะหนีออกจากบ้านหลังนี้ได้อย่างไร?
หาทางแก้ปมปัญหา :
- ออกทางหน้าต่าง
- พังประตูออกไป
- ทุบกำแพงอกไป
- ออกทางหลังคาแล้วกระโดดลงมา
- หาทางออกอื่น
ตัวอย่างที่ 2: ถ่านไฟเก่า
ปมปัญหา : ตัวละครเอกนึกถึงเรื่องราวเก่า ๆ แล้วรู้สึกชอบแฟนเก่าขึ้นมาอีกครั้ง แต่ตอนนี้แฟนเก่าของตัวละครเอกได้มีแฟนใหม่แล้ว ตัวละครเอกควรทำอย่างไร?
หาทางแก้ปมปัญหา :
- ลืมความรู้สึกที่มีกับแฟนเก่าทั้งหมด
- ทำให้แฟนเก่าของตัวละครเอกเลิกกับแฟนใหม่
- คบกับแฟนเก่าทั้งที่แฟนเก่ายังไม่เลิกกับแฟนใหม่
ในบทนี้เราได้เรียนรู้เรื่องการออกแบบโครงเรื่องกันไปแล้ว เราได้ทราบว่าโครงเรื่องแบ่งออกเป็นกี่ส่วน และส่วนต่าง ๆ มีอะไรบ้าง ในบทนี้มีเนื้อหาไม่มากนัก ถือว่าเป็นบทผ่อนคลายสมองของผู้อ่าน ให้ผู้อ่านลองฝึกออกแบบโครงเรื่องในแบบฝึกหัดประจำบท เพื่อพัฒนาทักษะด้านการออกแบบโครงเรื่องให้ดียิ่งขึ้น สำหรับการออกแบบเกมที่ไม่มีเนื้อเรื่องอย่างเกมตะลุยด่านหรือเกมอาเขตนั้น เราจะมาเรียนรู้หลังจากได้เรียนรู้การออกแบบเกมที่มีเนื้อเรื่องจบแล้ว ในบทต่อไปเราจะมาเรียนรู้เรื่องการออกแบบตัวละครกัน
ขอบคุณที่ติดตามผลงานของผู้เขียนมาตลอด ขอบคุณค่ะ
"Good, better, best. Never let it rest. 'Til your good is better and your better is best." - St. Jerome
"ดี, ดีมาก, ดีที่สุด จงอย่าหยุดพัก จนกว่า 'ดี' กลายเป็น 'ดีมาก' และ 'ดีมาก' กลายเป็น 'ดีที่สุด' "
แบบฝึกหัดประจำบทที่ 8
แบบฝึกหัดที่ 8 จงออกแบบโครงเรื่องของเกมต่อไปนี้- เกมจีบหนุ่มที่เป็นเจ้าชาย แต่เจ้าชายมีคู่หมั้นคนอื่นอยู่แล้ว
- เกมสงครามเชื้อโรค ตัวละครเอกเป็นคนธรรมดาที่พยายามหาทางยุติสงครามนี้ให้ได้
- เกมย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตของตนเอง แต่ต้องเจอปัญหาเรื่องมิติเวลา
- เกมปราบราชาปีศาจ โดยตอนเริ่มต้นตัวละครเอกเป็นแค่นักสู้มือใหม่
- เกมช่วยเจ้าหญิง ตัวละครเอกต้องหาทางช่วยเจ้าหญิงจากจอมโจรลักพาตัวให้ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น